ขั้นตอนการปลูกถ่ายไต
- ก่อนการปลูกถ่ายจะมีการชี้แจงข้อดีและข้อเสียของการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยรับทราบและยินยอมก่อน
- ผู้บริจาคไตและผู้ป่วยที่ตกลงเข้ารับการปลูกถ่ายไตเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการปลูกถ่าย
- เข้าสู่กระบวนการปลูกถ่ายไต
- ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลตามขั้นตอน
- ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อที่บ้านอย่างเหมาะสม ทั้งการดูแลตัวเองและการดูแลโดยผู้ดูแล
ที่มาของไตที่ใช้ปลูกถ่าย
- ได้รับจากผู้ที่มีชีวิต
- ได้รับจากผู้ป่วยสมองตาย (เสียชีวิต)
คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
- มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 20 ปี และไม่ควรมีอายุเกิน 60 ปี เว้นแต่กรณีที่ผู้บริจาคมีการดูแลสุขภาพได้ดีมาก
- ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมยาก
- ไม่มีโรคเบาหวาน
- ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
- มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมง
- มีค่าอัตราการกรองของไตมากกว่า 80 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร
- ไม่มีภาวะโรคอ้วนหรือ BMI มากกว่า 35
- ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม
- ไม่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี เอชไอวีที่รักษาไม่ได้
- ต้องเป็นญาติโดยสายเลือดหรือคู่สมรสตามกฎหมายข้อบังคับแพทยสภา (จดทะเบียนสมรสอย่างน้อย 3 ปีหรือมีบุตรด้วยกันอย่างน้อย 1 คน)
- ต้องไม่เป็นการซื้อขายอวัยวะ
การปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตายผู้ป่วยสมองตาย คือผู้เสียชีวิตที่มีเซลล์สมองตาย แต่อวัยวะอื่นรวมถึงไตยังสามารถทำงานได้ จึงสามารถนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตได้ ซึ่งต้องผ่านการยินยอมจากญาติหรือมีการแสดงเจตจำนงของผู้ตายเอาไว้ล่วงหน้าในการบริจาคไต ทั้งนี้ไตที่ถูกนำมาใช้ยังต้องผ่านการคัดกรองโดยละเอียดจากแพทย์ก่อนการปลูกถ่าย
ข้อดีของการปลูกถ่ายไต
- ไม่ต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้อง
- ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- ไม่ต้องจำกัดน้ำหรือควบคุมอาหาร
- กลับไปสู่การใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด คุณภาพชีวิตดีขึ้น
- มีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ สามารถมีบุตรได้ปกติ
ข้อเสียของการปลูกถ่ายไต
- เสี่ยงในการผ่าตัด เช่นเสียเลือด
- อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- อาจทำให้เกิดภาวะปฏิเสธไตได้
การดูแลผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต
- ระวังเรื่องการติดเชื้อในช่วงแรกหลังปลูกถ่ายไต ด้วยการดูแลกิจวัตรประจำวัน เน้นเรื่องความสะอาดของ อากาศอาหารและน้ำดื่มเป็นหลัก โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกิน 10 กิโลกรัม เพราะแผลยังไม่สนิท อาจฉีกขาดได้
- ระวังอย่าให้แผลเปียกน้ำ และคอยสังเกตแผลสม่ำเสมอ หากบวมแดงควรพบแพทย์
- การรับวัคซีนต้องชี้แจงแพทย์ก่อนว่าได้รับการปลูกถ่ายไต
- ระวังเรื่องการตากแดดเป็นเวลานาน เพราะผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายไตยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ผ่านการปลูกถ่ายไต จะได้รับยากดภูมิและยาสเตียรอยด์ ส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง และความดันในเลือดสูง จึงต้องระวังเรื่องอาหารการกินช่วงแรก ยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ทางที่ดีควรรับประทานอาหารรสจืด
- ต้องคอยติดตามการรักษาตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ
- สามารถออกกำลังกายได้ แต่ต้องระวังกีฬาที่มีการปะทะหรือเสี่ยงต่อการกระแทกช่องอกและช่องท้อง เช่น ชกมวย เตะบอล เป็นต้น สามารถว่ายน้ำได้ แต่ช่วงแรกต้องระวังเรื่องแผลที่ยังไม่แห้ง
สัญญาณการทำงานที่ผิดปกติของไตใหม่- ร่างกายมีไข้มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส
- ความดันตัวบนสูงกว่า 180 หรือปวดศีรษะรุนแรง
- เจ็บบริเวณที่ใส่ไตใหม่เข้าไป
- บวมตามตัว เช่น ขา หนังตา มือ เท้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ไอติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
- หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
- ถ่ายเหลวติดต่อกันหลายวัน
- มีตุ่มคล้ายเริมขึ้นตามตัว
หากมีอาการที่เป็นสัญญาณการทำงานของไตที่ผิดปกติหลังการปลูกถ่าย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด และถ้าหากพบว่าร่างกายมีการต่อต้าน อาจให้ยากดภูมิต้านทานเพิ่มเติมหริออาจต้องนำไตใหม่ที่ใส่เข้าไปออก และรักษาโรคไตด้วยวิธีอื่นแทน
อ้างอิงข้อมูลโดย
คุณพิมพ์ชณก จันท์โชติกุล
พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยนอก
ฝ่ายการพยาบาลศูนย์การแพทย์สิริกิติ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล