หลักการจัดอาหารให้ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

449 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หลักการจัดอาหารให้ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

โภชนาการในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
หลักการจัดอาหารให้ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีดังนี้                 
พลังงาน : ควรได้พลังงานเพียงพอหรือเกินพอเล็กน้อย เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการ และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากผู้ป่วยได้รับพลังงานไม่เพียงพอจะเกิดการสลายโปรตีนเป็นพลังงาน (Protein catabolism) มากขึ้น ทำให้ค่า BUN สูงขึ้น Body mass ลดลงและสมดุล
ไนโตรเจน เป็นลบ พลังงานที่เหมาะกับผู้ป่วยคือ 35 - 40 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักมาตรฐาน 1 กิโลกรัมต่อวัน แหล่งอาหารที่ให้พลังงานที่ดีแก่ร่างกาย ได้แก่ ไขมันและคาร์โบไฮเดรต และเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ควรแบ่งพลังงานออกเป็นอาหารระหว่างมือ 2 - 3 มือ และ
พลังงานสำหรับอาหารว่างควรให้พลังงานประมาณร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมด
โปรตีน: เป็นสารอาหารที่สำคัญเพราะเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อทั่วร่างกายขณะเดียวกันเมื่อโปรตีนถูกเผาผลาญในร่างกายตามปกติจะเกิดของเสียคือ Urea หากผู้ป่วยได้รับ
โปรตีนมากไปหรือน้อยไปจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นควรได้รับสารอาหารโปรตีน 1.1 - 1.2 กรัม ต่อน้ำหนักมาตรฐาน 1 กิโลกรัมต่อวัน แหล่งของโปรตีนร้อยละ 70 ควรมาจากเนื้อสัตว์ เพราะเป็น
โปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ช่วยให้ใช้โปรตีนคุ้มค่า เกิดของเสียน้อย ไข่ขาวและเนื้อปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด ควรเลือกส่วนที่ไม่มีหนังและไม่ติดมัน เช่น ปลานิล ปลาช่อน ปลาดุก รวมทั้งปลาทะเล เช่น ปลาแดง ปลาทรายแดง ปลาทู ปลารัง ปลาโอ เป็นต้น ซึ่งมีโอเมก้า 3 ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผู้ป่วยที่มีกรดยูริก ในเลือดสูงควรงดอาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ยอดผักชนิดต่างๆ ในกรณีที่ผู้ป่วย มีการสูญเสียโปรตีนในการย่อยสลายมากขึ้น จากกระบวนการ Catabolism ควรเพิ่มโปรตีนเป็น1.2 - 1.5 กรัมต่อน้ำหนักมาตรฐาน 1 กิโลกรัมต่อวัน (ไข่ขาว 1 ฟองมีโปรตีน (อัลบูมิน) ประมาณ 2.7กรัม พลังงาน 10.8 กิโลแคลอรี่)
ไขมัน: เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงสุด(สารอาหารไขมัน 1 กรัมให้พลังงานถึง 9 Kcal) ปริมาณไขมันที่เหมาะสมคือ ร้อยละ 30-35 ของพลังงานที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไขมันจากมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ควรงดไขมันในนม เนย ครีม แกงกะทิ ขนมใส่กะทิข้น ไอศกรีม งดใช้เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม หรืออาหารที่ใช้ไขมันดังกล่าว เช่น คุ้กกี้ พัฟ และพาย
คาร์โบไฮเดรต : เป็นแหล่งพลังงานส าคัญที่สุด คือร้อยละ 55 - 60 ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญคือ ข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง ผลไม้ และผัก (โดยเฉพาะผักหัว) ควรเลือกอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวมากกว่าในรูปน้ำตาลเพราะอาจทำให้
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
เกลือแร่: เกลือแร่ที่ต้องให้ความสำคัญมีดังนี้
โซเดียม: จำเป็นต้องจำกัดโซเดียมในระดับที่ <2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อควบคุมความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เช่น อาหารที่ใส่เกลือ น้ำปลาหรือซีอิ๊ว อาหารดองเค็ม อาหารแปรรูปต่างๆ รวมทั้งอาหารที่ใส่ผงชูรส และผงฟู ไม่ควรเติมเครื่องปรุงรส (น้ำปลา) ในขณะรับประทานอาหารอีก
 โปแตสเซียม: ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมักจะมีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง จึงต้องจำกัดโปแตสเซียมได้แก่ ผัก ผลไม้ต่างๆ ผู้ที่แพทย์สั่งงดผลไม้ถ้าต้องการรับประทานผลไม้แนะนำให้รับประทานในตอนเช้าวันฟอกเลือด ผู้ป่วยที่มีระดับโปแตสเซียมสูง ควรงดทั้งผลไม้ และน้ำผัก น้ำ
ผลไม้ทุกชนิด รวมทั้งน้ำสมุนไพร เช่น น้ำลูกยอ หากจำเป็นต้องรับประทานผักเพื่อช่วยในการขับถ่าย
อุจจาระ การหั่นผักเป็นชิ้นบางๆต้มกับน้ำให้เดือดสักระยะหนึ่งแล้วเทน้ำทิ้ง จะช่วยลดปริมาณโปแตสเซียม
ในผักให้ต่ำลงได้ โดยทั่วไปแพทย์มักสั่งยา “จับ” โปแตสเซียมให้ผู้ป่วยรับประทานพร้อมอาหาร
เพื่อให้ยาออกฤทธิ์จับโปแตสเซียมไว้ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ฟอสเฟต: ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมักมีฟอสเฟตสูง หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ระดับParathyroid hormone สูงขึ้น ระดับวิตามินดีลดลง   ผู้ป่วยจะกล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกพรุนเร็วขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนมทุกรูปแบบ ไข่แดง ถั่วแห้งและ
อาหารที่ทำจากถั่ว พวกเมล็ดแห้ง เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ลูกนัท งดอาหารที่ทำจากยีสต์ และควรระมัดระวังการใช้ยาชนิดยาสวนทวารหนัก เพราะมีสารประกอบฟอสเฟต โดยทั่วไปแพทย์มักสั่งยา “จับ” ฟอสเฟต ให้ผู้ป่วยรับประทานพร้อมอาหาร
แคลเซียม: ผู้ป่วยไตเรื้อรังมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับการถูกจำกัดอาหารให้มีฟอสเฟตต่ำ ด้วยการงดนมและผลิตภัณฑ์จากนม  ทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อย
ผู้ป่วยจึงควรได้รับยาแคลเซียมเสริม และต้องให้ในปริมาณสูง เพราะถูกดูดซึมจากลำไส้ไม่ได้ดี แพทย์อาจให้สารประกอบแคลเซียม คือ แคลเซียมคาร์บอเนตหรือแคลเซียมอะซิเตท เป็นสารจับฟอสเฟตใน
อาหาร(Phosphate binder)และเป็นยา Calcium supplement ด้วย ในกรณีเช่นนี้ ต้องกำหนดเวลารับประทานให้ชัดเจน
 เหล็กและ Trace element: ผู้ป่วยมักมีภาวะโลหิตจางหรืออาจอยู่ในภาวะที่ขาดทั้งเหล็กและTrace element จึงควรได้รับเสริมตามแพทย์สั่ง โดยร่วมหรือไม่ร่วมกับการได้รับฮอร์โมนErythropoietin
วิตามิน: ควรรับประทานวิตามินบีรวม วิตามินซีกรดโฟลิก และวิตามินดีชนิด 1 Alpha hydrocylated form ตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อเกลือแร่หรือวิตามินเสริมมารับประทานเอง 
 น้ำดื่ม: โดยทั่วไปแนะน้ำให้ดื่มน้ำได้เท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวัน บวกกับอีกวันละ 500 ในปริมาณนี้ ต้องรวมเครื่องดื่มชนิดอื่น อาหารทุกอย่างที่เป็นของเหลวด้วย
 
อ้างอิงข้อมูลจาก
คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตวายที่มารับการผ่าตัดใส่สายสวนระยะยาวเพื่อฟอกเลือด
นางโสมพันธ์ เจือแก้ว
นางสาวศิราณี เครือสวัสดิ์
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2557
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้